เล่นโทรศัพท์ตอนที่ฝนตก ฟ้าจะผ่าจริงไหม

ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักกับฟ้าผ่าก่อนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

          ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าที่เราเห็นได้นั้นเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลระหว่างประจุในก้อนเมฆและพื้นดิน โดยเริ่มต้นจากการที่ก้อนเมฆถูกลมพัดให้เคลื่อนที่ไปมาในอากาศ และเกิดการชนหรือเสียดสีกันระหว่างโมเลกุลของหยดน้ำหรือน้ำแข็งในก้อนเมฆ จึงเกิดประจุไฟฟ้าสะสมขึ้นในก้อนเมฆ ซึ่งมีทั้งประจุบวกและประจุลบ ประจุบวกจะเคลื่อนที่ขึ้นไปอยู่ด้านบนยอดเมฆ ขณะที่ประจุลบจะเคลื่อนตัวลงมาด้านล่างหรือบริเวณฐานเมฆ และเมื่อมีประจุลบสะสมอยู่จำนวนมากพอ มันจะสามารถเหนี่ยวนำให้วัตถุทุกชนิดที่อยู่ใต้ก้อนเมฆนั้นกลายเป็นประจุบวกทั้งหมด ประจุลบบริเวณฐานเมฆนี้จะทำให้อากาศด้านล่างก้อนเมฆแตกตัวและเดินทางแทรกลงมาด้านล่าง ขณะเดียวกันประจุบวกจากพื้นจะถูกประจุลบดึงดูดให้วิ่งขึ้นมาและบรรจบกัน ณ จุดจุดหนึ่ง และเกิดเป็นปรากฏการณ์ฟ้าผ่าได้ในที่สุด

การเกิดฟ้าผ่า

ภาพจาก https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/71665

แล้วฟ้าจะผ่าลงตรงไหนล่ะ

          ด้วยสาเหตุข้างต้นที่กล่าวมา ทำให้ทุกบริเวณใต้ก้อนเมฆที่สะสมประจุอยู่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้ทั้งหมด แต่จุดที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่ามากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้งและจุดที่สูงในบริเวณนั้น ๆ เช่น ต้นไม้หรืออาคารสูงที่ตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสเคลื่อนที่มาเจอกันได้รวดเร็วที่สุด ส่วนวัตถุที่เป็นตัวการทำให้ฟ้าผ่าใส่คนเราได้ คือ วัตถุที่อยู่เหนือจากศีรษะขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ปลายด้านบนเป็นเหล็กแหลม เป็นต้น

          โดยฟ้าผ่ามีความร้อนสูงมาก ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์ถึงประมาณ 5 เท่า ความร้อนนี้ทำให้อากาศโดยรอบขยายตัวและสั่นสะเทือนอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นเสียงฟ้าร้องในที่สุด ความร้อนจากฟ้าผ่านี้อันตรายมาก แต่นอกจากคนเราจะได้รับอันตรายจากการถูกฟ้าผ่าโดยตรงแล้ว แต่ยังมีอันตรายจากฟ้าผ่าประเภทอื่น ๆ เช่น อันตรายจากกระแสไฟฟ้าวิ่งตามพื้น (Ground current) ซึ่งเกิดจากแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (Step voltage) เพราะเมื่อฟ้าผ่าลงมายังพื้นแล้วกระแสไฟฟ้ายังสามารถกระจายออกไปยังบริเวณโดยรอบบริเวณที่ถูกฟ้าผ่าได้ เช่น จากตัวตึกลงมาที่ฐานและกระจายออกไปตามพื้นที่มีน้ำนอง เป็นต้น หรืออันตรายจากฟ้าแลบด้านข้าง หรือก็คือ กระแสไฟฟ้าที่ “กระโดด” เข้าสู่ตัวคนทางด้านข้าง ในกรณีที่หลบอยู่ใต้บริเวณที่ถูกฟ้าผ่า เช่น ต้นไม้ ถ้าหากกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านเข้าสู่สิ่งมีชีวิต ก็อาจได้รับอันตรายเช่นกัน

          ฟ้าผ่าก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้บางส่วน เช่น การติดตั้งสายล่อฟ้าไว้ที่ตึกสูง แต่ในประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดมรสุมขึ้นบ่อยครั้ง การเกิดฟ้าผ่าจึงหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น หากเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ฟ้าผ่า จึงควรหาที่หลบให้ได้เร็วที่สุด แต่ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งแล้วหาที่หลบไม่ทัน เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและคิดว่าน่าจะเกิดฟ้าผ่า ให้พยายามสัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการที่กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าสู่ร่างกายของเราจากจุดหนึ่งและไหลออกอีกจุดหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้

ใช้โทรศัพท์ตอนฝนตก เสี่ยงฟ้าผ่าจริงไหม?

          ความเชื่อที่ว่าเล่นมือถือขณะฝนตกทำให้ฟ้าผ่าจริงๆ แล้วมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะมือถือไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้า แต่ถ้าเป็นโทรศัพท์บ้านก็มีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณได้ และเมื่อกระแสไฟจากฟ้าผ่าวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อก็ทำให้ทั้งโทรศัพท์และผู้ใช้งานได้รับอันตราย นอกจากนี้ การที่เราไปยืนกลางที่โล่งแจ้ง หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้าผ่าสูงมากกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือขณะฝนตกเสียอีก

เล่นโทรศัพท์ ตอนฟ้าร้อง

ภาพจาก https://mobile.kapook.com/view7248.html

เมื่อปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดงานเสวนา ในหัวข้อ “ฟ้าผ่า ข้อเท็จจริงที่ควรรู้” ซึ่งมีนักวิชาการและผู้เชียวชาญทางด้านการเกิดฟ้าผ่าเข้าร่วมหลายคน และภายในงานได้มีการจำลองสภาวะฟ้าผ่ากับโทรศัพท์มือถือ เพื่อพิสูจน์ว่ามือถือเป็นสื่อล่อฟ้าจริงหรือไม่ การทดลองแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ โดยใช้โทรศัพท์มือถือที่ปิดเครื่อง, โทรศัพท์มือถือที่เปิดเครื่องและมีสายเรียกเข้า, โทรศัพท์มือถือที่เปิดเครื่องมีสายเรียกเข้าและมีการตั้งรับอัตโนมัติเป็นสื่อล่อฟ้า ซึ่งผลการทดลองทั้ง 3 รูปแบบ พบว่าฟ้าไม่ผ่าลงโทรศัพท์มือถือ และทุกเครื่องยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ

นอกจากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงของอันตรายจากฟ้าผ่า จึงได้มีการสาธิตกับวัตถุที่จำลองเป็นต้นไม้ ก็พบว่าฟ้าผ่าลงที่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นจุดที่สูงกว่าบริเวณอื่นๆ ที่สำคัญยังมีการจำลองสถานการณ์โดยใช้ตุ๊กตาแทนคน ยืนหลบอยู่ใต้ต้นไม้เมื่อมีฝนฟ้าคะนอง ซึ่งผลปรากฏว่าฟ้าผ่าลงต้นไม้และมีกระแสไฟกระโดด ส่วนตัวตุ๊กตามีรอยไหม้บริเวณศีรษะ นับเป็นกรณีตัวอย่างอันตรายจากฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย

นักวิชาการเผย! โลหะไม่ได้เป็นสื่อล่อให้เกิดฟ้าผ่า หลังมีข่าว เด็กวัย 12 ถูก ฟ้าผ่าคาดมีหัวเข็มขัดเป็นตัวล่อ

ภาพจาก https://mobile.kapook.com/view7248.html

ความเชื่อเรื่องเล่นโทรศัพท์จะโดนฟ้าผ่า

          น่าจะมาจากการที่ได้เห็นข่าวอยู่บ่อยๆ เพราะที่ตัวของคนที่ถูกฟ้าผ่ามักจะมีโลหะ หรือมือถืออยู่กับตัวด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วโลหะ หรือมือถือนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้คนที่โดนฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น เพราะการใช้มือถือในบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าอาจทำให้เกิดการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในแบตเตอรี่หากเกิดฟ้าผ่าขึ้น และทำให้เกิดการระเบิด หรือกระแสไฟอาจจะวิ่งเข้าโลหะที่ติดอยู่กับตัว ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บมากขึ้นถึงขั้นเสียชีวิตได้

          ถึงแม้ว่าการเล่นโทรศัพท์ตอนฟ้าร้องจะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้โดนฟ้าผ่ามากขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอยู่ดี เพราะการเล่นโทรศัพท์ใกล้บริเวณที่เกิดฟ้าผ่า อาจมีการเหนี่ยวนำไฟฟ้าทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรและระเบิดได้ ซึ่งถือว่าอันตรายและไม่ควรทำ แม้จะไม่มากเท่าการโดนฟ้าผ่าก็ตาม ควรหลบเข้ามาใช้ในร่มหรือภายในบ้านและอาคารจะปลอดภัยกว่า

          ทั้งนี้ สามารถสรุปได้ว่า การเล่นโทรศัพท์ตอนฟ้าร้อง ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงที่จะโดนฟ้าผ่า แต่อาจเกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากฟ้าที่ผ่าบริเวณใกล้เคียงจนทำให้แบตเตอรี่ระเบิดได้ จึงถือว่าควรหลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์ในที่โล่งแจ้งขณะฝนตกถ้าเป็นไปได้นั่นเอง


ข้อมูลจาก https://tips.thaiware.com/1354.html , https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/71665 , https://mobile.kapook.com/view7248.html